เปิดวิธีอยากเลิกบุหรี่ ทำอย่างไร?

ไลฟ์สไตล์
เปิดวิธีอยากเลิกบุหรี่ ทำอย่างไร?

คำกล่าวที่ว่า บุหรี่เป็นภัยต่อชีวิตเป็นพิษต่อสังคมนั้น เป็นคำที่ไม่เกินความเป็นจริงแต่อย่างใด เพราะบุหรี่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งจากค่ารักษาพยาบาลถึงปีละ 77,626 ล้านบาท

ทั้งนี้ความสูญเสียอันเกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 131,073 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ เมื่อปี 2560 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่รวมกว่า 72,656 คน
 
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีข้อมูลความสูญเสียมากมายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดย ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า หากพูดถึงการรณรงค์เรื่องบุหรี่ของประเทศไทยถือเป็นการรณรงค์ที่มีประสิทธิภาพดีโดยจาก สถิติในปี 2534 พบว่ามีคนไทยสูบบุหรี่ที่ร้อยละ 32 ขณะที่ปัจจุบันในปี 2562 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 19.1 แต่เมื่อมาดูสัดส่วนอายุของผู้ที่สูบบุหรี่มากขึ้นโดยอยู่ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป ทำให้สะท้อนมาที่ปัญหาภาระค่ารักษาที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น
 
ดร.พญ.เริงฤดี บอกอีกว่า ข้อมูลจากจำนวนคนที่เสียชีวิตจากบุหรี่พบว่า ร้อยละ 49 เสียชีวิตจากโรคปอด และอันดับหนึ่ง คือ มะเร็งปอด ทำให้เสียชีวิตปีละ 13,727 คน รองลงมา คือ ถุงลมโป่งพอง 10,852 คน โรคปอดอักเสบและวัณโรคปอด 10,833 คน รวมแล้วกว่า 35,412 คน และหากรวมคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคปอดโดยควันบุหรี่มือสองปีละ 8,278 คน คนไทยจะเสียชีวิตจากโรคปอดจากการสูบบุหรี่ถึง 4 หมื่นกว่าคน ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก 2562 คือ บุหรี่เผาปอด (Tobacco burns your lungs) โดยการรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2562 ทางองค์การอนามัยโลก แนะนำว่า นอกจากการสร้างความตระหนักแก่ผู้สูบ เรื่องของระบบการเก็บภาษีบุหรี่ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรที่ควรผลักดัน โดยการเก็บภาษีแบบอัตราเดียวจะดีกว่าสองอัตรา ที่ทำให้นักสูบใช้บุหรี่ราคาถูกกว่า โดยมาตรการต้องมีประสิทธิภาพและคำนึงถึงความสูญเสีย
 
มาที่ รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา ประธานที่ปรึกษาชมรม “ลมวิเศษ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยโรคทางเดินหายใจ และผู้ริเริ่มให้เกิด “คลินิกฟ้าใส” คลินิกให้บริการเลิกบุหรี่ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. เผยว่า โรคจากบุหรี่ เป็นโรคที่เมื่อเกิดผลกระทบแล้วจะย้อนกลับไปเหมือนเดิมไม่ได้ และปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่ถูกพิสูจน์ทางการแพทย์จะซ่อมปอดและลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ถือเป็นภาระโรคที่รักษาได้ยาก และทำให้คนทุกข์ทรมานในระยะยาว โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด และโรคถุงลมโป่งพอง
 
บุหรี่เผาปอดของเราอย่างไร?
 
รศ.นพ.สุทัศน์ บอกว่า ปอดแต่ละข้างที่มีถุงลม 2-4 ล้านอันเกาะติดกัน โดยมีผนังของถุงลมที่ยึดโยงเป็นตาข่ายหรือใช้ผนังร่วมกัน ซึ่งควันจากบุหรี่แบบดั้งเดิม จะมีความร้อนถึง 600 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 6 เท่าของน้ำเดือด ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าแม้จะบอกว่าความร้อนน้อยกว่า แต่ก็ยังมีความร้อนถึง 300 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนระดับที่เกินกว่า 100 องศาเซลเซียส สามารถเข้าไปเผาทำลายเซลล์เยื่อบุการหายใจ ทั้งเซลล์เยื่อบุหลอดลม และเซลล์เยื่อบุผนังถุงลม ทำให้เกิดการฉีกขาด เมื่อถูกทำลายไปเรื่อย ๆ จึงเกิดโรคถุงลมโป่งพอง จึงเรียกว่าเป็นบุหรี่เผาปอด ยิ่งสูบก็ยิ่งไหม้ ถุงลมยิ่งถูกทำลาย ยิ่งเด็กที่มีขนาดปอดที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้มีโอกาสรับพิษมากกว่า
 
นอกจากความร้อน บุหรี่มวนยังมีสารพิษต่อร่างกายมนุษย์ถึง 7,000 ชนิดแตกต่างกัน โดย 60 ชนิดพิสูจน์แล้วว่า ก่อมะเร็งในมนุษย์ได้จริง สารเคมีจะเข้าไปทำปฏิกิริยา ก่อให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ทั้งในโพรงจมูก หลอดลม เนื้อปอด ถุงลม เช่น เกิดอาการภูมิแพ้ หรือหลอดลมอักเสบแบบเรื้อรัง มีการผลิตมูกเพิ่มขึ้น ไอเรื้อรังมากขึ้น ทำให้เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจที่จะมีขนเล็ก ๆ คอยปัดกวาดสารเคมีและฝุ่นควันที่หายใจเข้าไปออกมาผ่านการไอหรือน้ำมูก หยุดทำงานลง ทำให้เสมหะค้างอยู่ในภายในจนอุดกั้น จนเกิดโรคถุงลมโป่งพองอีกรูปแบบหนึ่ง
 
“ลองนึกภาพว่าถุงลมเล็ก ๆ หลายล้านถุง ในปอดทำงานไม่ได้ หายใจเข้าไม่เต็มปอด ไม่พอง หายใจออกก็ไม่ได้ อาการที่เป็นจะเหมือนคนที่จมน้ำอยู่ตลอดเวลา เป็นความทรมานที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว
 
สำหรับผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ ทางมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ได้ให้คำแนะนำดังนี้
 
“เมื่อรู้สึกอยากบุหรี่ควรจะ...”
 
1) อย่าสูบบุหรี่ทันทีที่อยากสูบ ควรประวิงเวลาของการสูบไปเรื่อย ๆ
 
2) ดื่มน้ำ หรือล้างหน้าทันที เมื่อรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย
 
3) ทำกิจกรรมอื่นเบี่ยงเบนความสนใจ
 
นอกจากนี้ยังมีวิธี “ก. ข. ค. ง. จ. เพื่อการเลิกสูบบุหรี่” 
 
ก. กำจัดอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับบุหรี่ไปให้หมด
 
ข. เข้มแข็ง หากหงุดหงิด ให้บอกตัวเองว่าสู้ สู้
 
ค. คุมน้ำหนัก เลือกกินอาหาร ง. งดดื่มแอลกอฮอล์
 
จ. จำเสมอว่า การเลิกบุหรี่ทำให้สุขภาพดีขึ้น
 
เพราะปอดไม่ใช่ถังขยะ ไม่อยากให้ปอดถูกทำลาย เลิกสูบบุหรี่ตั้งแต่วันนี้ ซึ่งการเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้เพียงทำเพื่อตนเองแต่เป็นการปกป้องคนที่เรารักไม่ให้ตกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบควันบุหรี่อีกด้วยนะคะ
 
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
 
ข้อมูลจาก : ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และรศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยโรคทางเดินหายใจ

ขอบคุณข้อมูลจาก