เลือกกินอย่างไร ในวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
การปนเปื้อนอาหารไม่ใช่เฉพาะช่วงนี้ และไม่จำเป็นต้องเป็น pm 2.5 เท่านั้น แต่ฝุ่นละอองธรรมดา ก็สามารถเข้าไปตกอยู่ในอาหารได้
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ให้สัมภาษณ์โดย อ.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย ฮัดเช้ย อยากรู้จังเลยว่าใครเอ่ยถึงฉัน ถึงได้จามอยู่ได้ตลอดวัน จนไม่มีเวลาทำงาน ใครบ่นถึงฉัน ถึงจามฮัดเช้ย ฮัดเช้ย”
คงต้องร้องเพลงนี้ทั้งวัน เมื่อหลายคนโดนพิษของอากาศ หรือ ฝุ่นจิ๋ว pm 2.5 ไปรบกวนระบบทางเดินหายใจ จามบ้าง ไอบ้าง ภูมิแพ้กำเริบบ้าง หลากหลายอาการที่คนกรุงเทพฯ และหลายพื้นที่กำลังเผชิญ แต่นอกจากฝุ่นเหล่านี้จะรบกวนระบบทางเดินหายใจแล้ว ในส่วนของระบบทางเดินอาหาร หากมีการปนเปื้อนของฝุ่น ก็สามารถทำให้ท้องเดิน จู๊ดๆ ได้เช่นกัน
อ.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า หากพูดถึงในแง่ของการปนเปื้อนอาหารไม่ใช่เฉพาะช่วงนี้ และไม่จำเป็นต้องเป็น pm 2.5 เท่านั้น แต่ฝุ่นละอองธรรมดา ก็สามารถเข้าไปตกอยู่ในอาหารได้ กินเข้าไปแล้วมันก็เป็นอาหารปนเปื้อนนั่นเอง โดยแบ่งการปนเปื้อนเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1.ปนเปื้อนเชื้อโรค อาจจะนำพาไปสู่โรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งไม่ใช่แค่ฝุ่นเท่านั้น แต่แมลงวันที่ไปตอมก็นำมาซึ่งพาหะของโรคได้ เช่น โรคท้องเดิน โรคไทฟอยด์ (ไข้รากสาดน้อย) อุจจาระร่วง เหล่านี้คือโรคที่เกิดจากอาหารไม่มีอะไรปกปิด
2.ปนเปื้อนโลหะหนัก มาจากการเผาไหม้ของควันไอเสียรถยนต์ที่มากับฝุ่นละออง โดยเฉพาะพวกแคดเมียม ตะกั่ว ซึ่งจะนำพาไปสู่ โรคที่อันตรายต่อร่างกายสารพัดโรค เช่น มีผลต่อตับ หัวใจ เส้นเลือด ภาวะเจริญพันธุ์ โครโมโซม และเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และความพิการแต่กำเนิดอีกด้วย
ในช่วงวิกฤตแบบนี้เราต้องเลือกการกินอาหารให้ปลอดภัยได้อย่างไร ถ้าคุณกินอาหารนอกบ้าน ไม่ว่าจะซื้อกลับไปกินในบ้าน หรือจะนั่งกินในร้าน ไม่ว่าจะร้านประเภทไหนก็ตามแต่ ถือว่าเป็นการกินนอกบ้านทั้งหมด ดังนั้น อ.สง่า จึงแนะนำเคล็ดลับในการเลือกรับประทานอาหารที่ปลอดภัย เพราะการรับประทานอาหารนอกบ้านถือว่าเป็นความเสี่ยง ถ้าคุณไม่ปฏิบัติดังต่อไปนี้ โดยหมั่นสังเกตสิ่งเหล่านี้
1. ต้องสังเกตดูว่าร้านอาหารที่จะซื้อกับข้าวเข้าบ้าน มีอะไรปกปิดหรือไม่ อยู่ในตู้หรือไม่ หรือแผ่อยู่ริมฟุตปาธ ถ้าเป็นเช่นนั้น ควรจะหลีกเลี่ยง เพราะว่าอันตรายจะเกิดขึ้นตามที่บอกไปข้างต้น ดังนั้น พยายามเลือกร้านที่มีภาชนะปกปิด หรืออยู่ในตู้
2.ต้องสังเกตร้านที่มีป้ายให้การรับรองจากทางราชการ เช่น จากกรมอนามัยมีป้าย clean food good taste หรือใบรังรองจาก กทม. หรือ องค์กรท้องถิ่น คำว่าป้ายได้รับการรับรอง คือ ได้รับการการันตีว่า ผู้สัมผัสอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้ปรุง ผู้เสิร์ฟ เจ้าของร้าน ได้รับการอบรม ก็ถือว่าอาหารจะปลอดภัยในระดับหนึ่ง นั่นเอง
3.ดูลักษณะของร้าน เพราะป้ายไม่ได้การันตีว่าจะสะอาดเสมอไป แต่ให้ดูลักษณะของกายภาพประกอบด้วยว่า โต๊ะ เก้าอี้ เป็นอย่างไร คนปรุงใส่หมวกหรือไม่ มีเสื้อกันเปื้อนทำอาหารหรือไม่ เล็บของคนทำอาหารยาว-ดำหรือไม่ คนสัมผัสอาหารได้ปิดปากหรือไม่ ใช้หน้ากากอนามัยปิดไว้หรือเปล่า บริเวณห้องอาหาร โต๊ะ เก้าอี้เป็นอย่างไร สกปรกเลอะเทอะ มีสัตว์เลี้ยงหรือไม่ คนจับต้องอาหาร กับคนที่เก็บเงินเป็นคนเดียวกันหรือไม่ เช่น ร้านขายข้าวมันไก่ คนที่กำลังหยิบไก่ใส่ในจาน โดยใช้มือเปล่าๆ ในขณะเดียวกันก็ไปเก็บเงินและทอนเงินด้วย ร้านเหล่านี้ไว้ใจไม่ได้ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลทางกายภาพที่เราสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ในเบื้องต้น
4.ในร้านมีสารพัดเมนู อยู่ที่ตัวคุณแล้วว่าจะเลือกเมนูอะไร อาหารที่สั่งเป็นอาหารที่ถูกหลักโภชนาการหรือไม่ วิธีสั่งอาหารให้ถูกหลักโภชนาการก็คือ สั่งอาหารที่มีครบ 5 หมู่ สั่งประเภท ต้ม ยำ ย่าง อบ นึ่ง น้ำพริก ถ้าสั่งผัดก็ได้ แต่ต้องบอกว่าน้ำมันไม่เยิ้ม หากสั่งเฉพาะเนื้อสัตว์อย่างเดียว โอกาสที่จะได้โปรตีนและไขมันสูงก็มีอีก เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่เราสั่ง ให้ยึดหลัก อาหารครบ 5 หมู่ ดีที่สุด
นอกจากการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการแล้ว การออกกำลังกาย และสุขภาพจิตก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรดูแลให้ควบคู่ไปพร้อมกับอาหารการกิน ยิ่งในวันที่อากาศมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ยิ่งต้องเคร่งครัดการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนให้คนไทย มีสุขภาพกาย จิต ปัญญา และสังคมที่ดี โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน เหนือสิ่งอื่นใดคือ ควรกินผัก-ผลไม้ วันละ 400 กรัม ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ได้นั่นเอง