รู้จัก 'ซิฟิลิส' เปิดวิธี ป้องกัน-ระวัง-รักษา
เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครป่วยหรือใครไม่ป่วย เพราะระยะฟักตัวของ “โรคซิฟิลิส” ที่กำลังระบาดอยู่จะไม่แสดงออกมาให้เห็น การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จึงเป็นวิธีการป้องกันที่ปลอดภัย
เรื่องโดย : ชมนภัส วังอินทร์ team content www.thaihealth.or.th
ผู้ให้สัมภาษณ์ : นายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ที่ปรึกษามูลนิธิแพธทูเฮลท์ ประเทศไทย (Path2Health Foundation) และอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ข้อมูลบางส่วนจาก : หนังสือ เรื่องที่เธอต้องรู้ สิ่งที่เขาต้องรู้ โดย สสส.
โรคซิฟิลิส คือ อะไร?
“ซิฟิลิส (Syphilis)” เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema pallidum)” ซึ่งเป็นเชื้อที่มีขนาดเล็กมาก สามารถอาศัยอยู่ได้เกือบทุกส่วนในร่างกาย
ในอดีตซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทุกคนกลัว แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการฉีดยาหรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เนื่องจากผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการของโรคออกมาอย่างเด่นชัดจนกระทั่งระยะท้าย ๆ ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมักไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการ รวมทั้งกลายเป็นพาหะของโรคไปโดยไม่ตั้งใจ
นพ.วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ที่ปรึกษามูลนิธิแพธทูเฮลท์ ประเทศไทย (Path2Health Foundation) และอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า โรคซิฟิลิสมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 3-21 วันหลังรับเชื้อ โดยมีอาการดังนี้
- ระยะแรกเริ่มจะมีแผลบริเวณช่องคลอด ทวารหนัก องคชาติ หรือปาก
- ระยะที่สองเชื้อจะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด และต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย มีผื่นขึ้นตามตัว ฝ่ามือและฝ่าเท้า ไม่มีอาการคัน อาจมีไข้ อ่อนเพลีย ผมร่วง
- ระยะที่สามคือ ระยะเรื้อรัง ที่เชื้อเริ่มทำลายอวัยวะส่วนสำคัญ ลุกลามไปที่สมอง หัวใจ หลอดเลือด เส้นเลือด ตับ และกระดูก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวชา และตาค่อย ๆ เริ่มบอด
การกลับมาของซิฟิลิส
ในช่วงระยะ 3 ปีให้หลังโรคซิฟิลิสได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งเป็น เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงซึ่งจากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า โรคหนองในเป็นโรคที่พบมากที่สุด คิดเป็น 15.13 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาได้แก่โรคซิฟิลิส 11.91 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561
การพัฒนาทางแพทย์ทำให้มียาเป๊ป (PEP) และยาเพร็พ (PrEP) ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กลัวโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพราะคิดว่ามีเกราะป้องกันแล้วหนึ่งชั้น และมักจะไม่สวมถุงยางอนามัย จึงทำให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อทางเพศอื่น ๆ เช่น โรคหนองใน โรคซิฟิลิส เป็นต้น ซึ่งอันที่จริงแล้วผู้ที่รับประทานยาเพร็พ ไม่ควรมองว่าเป็นวิธีแรกที่จะป้องกันเอชไอวี แต่ให้มองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เมื่อทานยาเพร็พเป็นประจำควบคู่ไปกับการใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์จะช่วยทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เป็นอย่างดี
นพ.วัชระ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สาเหตุที่โรคซิฟิลิสกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมทางเพศที่เปลี่ยนไป เช่น การพบเจอกันง่ายขึ้น พบเจอทางแอปพลิเคชันหาคู่ การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วขึ้น”
รู้หน้าไม่รู้ใจ รู้นิสัยไม่รู้โรค
นพ.วัชระ กล่าวย้ำอาการสำคัญของโรคซิฟิลิสที่น่ากลัว คือ อาการส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยแสดงออกมาให้เห็น หรือที่เรียกว่า “ระยะแฝงเชื้อ” เป็นระยะที่เริ่มขึ้นหลังจากอาการของระยะที่หนึ่งและระยะที่สอง ดังนั้นวิธีที่ดีสุดในการป้องกัน คือ “การตรวจสุขภาพ” ไม่ว่าจะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงตาม หากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัยให้ตรวจเลือดทุกเดือน แต่หากไม่เปลี่ยนคู่นอนให้ตรวจเลือดทุก 6 เดือนถึง 1 ปี อย่างต่อเนื่อง เพราะหากทิ้งไว้อาการจะลุกลามทั่วร่างกาย ทำให้เดินขาถ่าง อั้นปัสวะ-อุจระไม่ได้ หูหนวก ตาบอด ซึ่งส่งผลเสียต่ออวัยวะสำคัญและอาจเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้โรคซิฟิลิสสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด เพราะเป็นโรคที่สามารถติดจากแม่สู่ลูกหากไม่ทำการรักษา ส่งผลให้ลูกที่เกิดมาพิการอีกด้วย
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยให้หมั่นสังเกตว่า มีแผล บวม หรือตุ่มพองที่บริเวณอวัยวะเพศ ช่องทวารหนัก หรือที่ปากหรือไม่ มีอาการแสบ เจ็บเมื่อปัสสาวะ มีหนองไหลจากอวัยวะเพศหรือทวารหนัก คัน เจ็บหรือไม่ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที หรือหากยังไม่แน่ใจสามารถโทร 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม เพื่อขอคำแนะนำได้เช่นกัน
สำหรับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถทำได้ดังนี้
1.สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงออรัลเซ็กส์ (oral sex)
2.ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
3.หมั่นตรวจเช็คสุขภาพ ด้วยการตรวจเลือดเป็นประจำ