เมื่อเด็ก "รักการอ่าน" จะได้อะไรมากกว่าที่คิด
การอ่านสร้างจินตนาการได้อย่างดีเยี่ยม ที่มากไปกว่านั้น การอ่านเป็นการเตรียมสมองส่วนหน้าของเด็ก ให้เติบโตเป็นสมองที่มีประสิทธิภาพ
เรื่องโดย : น.ส.อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลประกอบจาก : เฟซบุ๊กแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน / หนังสือมหัศจรรย์แห่งการอ่าน ฐานพลังการพัฒนาสมองและศักยภาพมนุษย์ โดย สสส.
“และเจ้าหญิงกับเช้าชาย ก็ได้ครองคู่กันอย่างมีความสุข” บทสรุปที่ลงเอยด้วยความสุข ของนิทานวัยเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่มักจะได้อ่านให้ลูกฟังบ่อยๆ แน่นอนว่าเด็กๆ มักจะต้องเติบโตมาพร้อมกับนิทาน หรือหนังสือ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะอ่านให้ฟังหรือตัวเขาเป็นผู้อ่านเอง เด็กก็จะจินตนาการและผจญภัยไปกับเรื่องราวที่ได้อ่าน และเป็นอีกส่วนที่เติมเต็มความสุขเล็กๆ ในชีวิตของเราเอง
เพราะการอ่านสร้างจินตนาการได้อย่างดีเยี่ยม ที่มากไปกว่านั้น การอ่านเป็นการเตรียมสมองส่วนหน้าของเด็ก ให้เติบโตเป็นสมองที่มีประสิทธิภาพ เฉลียวฉลาด สามารถคิดเชิงวิเคราะห์และมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียนชื่อดัง ได้กล่าวไว้
“การอ่านมีเวลาวิกฤตของตัวเอง” เมื่อเริ่มอ่านช้าจะไม่ทันการ เพราะทุกๆ ครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือเด็กได้อ่านหนังสือ เซลล์สมองก็จะยื่นแขนงประสาทไปแตะกัน เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นประสาทเกิดเป็นวงจร เกิดการพัฒนา Executive Functions & Self-regulation หรือ EF ซึ่งเป็นสมองส่วนหน้าที่ควบคุมจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมของตนเอง การพัฒนาด้าน EF นี่เอง เด็กสามารถพัฒนาตั้งแต่ 0-25 ปี แต่จะเติบโตมากที่สุดคือช่วง 3-6 ปี
จิตแพทย์ชื่อดัง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมช่วงเสวนา “การอ่านกับการพัฒนาทักษะสมอง EF” ในงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ว่า ในช่วง 2 ขวบปีแรก ทุกๆ คำที่คุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง สมองของเขาจะจินตนาการในทุกครั้ง แม้ว่าจะอ่านนิทานซ้ำๆ แต่เขาจะวาดภาพใหม่ในทุกวัน ช้าง 7 วันที่แล้ว กับช้างวันนี้ก็ไม่เหมือนกัน
“เด็กจะผจญภัยในจิตใต้สำนึกตัวเอง หนังสือนิทานมีทั้งสดชื่นแจ่มใส มีผู้ร้าย มีตัวโกง มีพ่อใจร้าย มีพ่อมด มีด้านมืด ไม่ต้องกลัวที่เล่าเรื่องราวความน่ากลัวให้ลูกฟัง เพราะร้อยละ 99 ของนิทานประกอบภาพสำหรับเด็ก ศิลปินได้ใช้ศิลปะในการสร้างสรรค์ให้เหมาะกับเด็ก ถ้าคุณพ่อคุณแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน วันละ 30 นาที จะเป็นการระบายของเสียออกจากใจลูกด้วย” นพ.ประเสริฐ อธิบาย
สิ่งที่เด็กๆ ต้องการจากหนังสือ แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่แค่ได้เห็นภาพสวยๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ค่อยเปิดให้ดู “ความใกล้ชิดพ่อแม่” ต่างหาก คือสิ่งที่เด็กต้องการแท้จริง แต่สิ่งที่จะได้ตามมาจากหนังสือนิทานที่แฝงไปด้วยข้อคิด คำสอน และการเรียนรู้มากมาย คือ ระบบตัวเลข ระบบสี การจัดกลุ่ม ฐานวิธีคิด รวมไปถึงการเรียนรู้เรื่องความตาย ซึ่งเป็นการเล่าที่ละมุนและละเอียดอ่อนที่สุด ดังนั้นเด็กก่อน 9 ขวบ จะได้รู้ว่าความตายคืออะไร รู้จักการไม่หวงคืน และการตายที่เกิดเป็นวัฏจักร “นิทานได้จึงได้พาเด็กเปลี่ยนผ่าน และเติบโตขึ้น ลิ้มรสความตาย ลิ้มรสความชั่วร้ายอย่างละมุนละม่อม”
ว่ากันว่า ทุกครั้งที่เด็กได้อ่านและเริ่มต้นมันด้วยความสุข จะกระตุ้นสมองหลั่งสารแห่งการเรียนรู้ที่เรียกว่า “โดพามีน” ออกมาทุกครั้ง ซึ่งจะทำให้สมองจดจำง่าย สนุกที่จะเรียนรู้ และไม่รู้สึกเบื่อ “การอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสมองและศักยภาพของมนุษย์ ฐานการรักการอ่านจะหนักแน่นมั่นคงได้ต้องเริ่มที่บ้าน” สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ให้ความคิดเห็น
กุญแจสู่การสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย หรือทำให้การอ่านเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนนั้นต้องเริ่มจาก การให้การอ่านนำมาซึ่งความสุข ความเพลิดเพลินแก่คนอ่าน แล้วจึงค่อยๆ ยกระดับความเพลิดเพลิน เป็นการพัฒนาปัญญา ต้องบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก เพื่อสร้างวันที่มีความสุขและความอบอุ่นในครอบครัวให้เกิดขึ้น เพราะการอ่านหนังสือเป็นสายใยเชื่อมร้อยหัวใจของทุกคน
เทคนิคที่จะทำให้เด็กเริ่มต้นรักการอ่าน หนังสือมหัศจรรย์แห่งการอ่าน ฐานพลังการพัฒนาสมองและศักยภาพมนุษย์ โดย สสส. เผยเคล็ดลับเอาไว ดังนี้
1. อ่านเรื่องเบา ๆ สบาย ๆ สนุกสนาน เด็กจะได้ไม่รู้สึกเบื่อ
2. รู้จักเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย เช่น ก่อนนอน
3. ระหว่างที่ลูกเล่นอยู่ใกล้ ๆ พ่อแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกเห็น และถ้าตอนไหนน่าสนใจ ควรอ่านออกเสียงดังให้ลูกได้ยินเพื่อให้เขามีส่วนร่วม หรือใช้หนังสือปริศนาคำทายดึงความสนใจ
4. ลองอ่านเรื่องแปลกใหม่ที่เขายังไม่เคยเจอหรือได้ยินจากโรงเรียน
5. สังเกตเรื่องที่ลูกกำลังสนใจ แล้วอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มาอ่านให้ฟัง
6. อ่านหนังสือที่ลูกชอบ แล้วตั้งคำถามเพื่อให้ลูกได้ฝึกใช้ความคิด ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง โดยแอบสอดแทรกความคิดเห็นและอธิบายสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม
7. เล่าเรื่องผิด ๆ ถูก ๆ ในบางตอนของหนังสือเล่มโปรด ช่วยกระตุ้นสมองของลูกให้ทำงาน ทั้งทางด้านความคิดและความทรงจำ รวมถึงฝึกการใช้ภาษาในการโต้แย้งกับพ่อแม่
8. แต่งเรื่องนิทานขึ้นมาเองบ้าง โดยลองให้ลูกเป็นตัวเอก เพราะเด็กเล็กมักจะชอบฟังเรื่องที่มีตัวเขาเป็นผู้แสดง หรืออาจจะแต่งเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เขาคุ้นเคย
9. อ่านหนังสือกับลูกทุกวันและพยายามชวนคุยถึงรูปภาพ สี รูปร่าง จำนวน และคำต่าง ๆ ในหนังสือ หรือหากหนังสือไม่มีภาพ พ่อแม่อาจใช้งานศิลปะง่าย ๆ เช่น แป้งปั้น หรือสีแท่งโต ๆ วาดภาพ ขณะที่อ่านและคุยกับลูก
ยิ่งเด็กอ่านเยอะ ก็จะยิ่งสร้างเสริมจินตนาการที่พร้อมจะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ต่อไป ดังเช่น วลีอมตะของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ "จินตนาการ สำคัญกว่าความรู้"
ขอบคุณข้อมูลจาก
ขอบคุณข้อมูลจาก