ตู้เก็บของสวย ตัวช่วยจัดการบ้านไม่ให้รก
บ้านจะสวยหรือบ้านจะรกอาจขึ้นอยู่กับการออกแบบตกแต่งและสไตล์ที่สวยงาม แต่มีสิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ “ตู้เก็บของ”
ไม่ว่าจะเป็นแบบลอยตัวหรือบิลท์อินต่างมีส่วนสำคัญที่ช่วยจัดเก็บข้าวของอย่างเป็นระเบียบ หรืออย่างน้อยบางอย่างที่รกตาและไม่เข้ากับบ้านก็มีที่ทางไป นอกจากหน้าที่หลักคือการเก็บของแต่ถ้าลองเติมฟังชั่นอื่นๆเพิ่มเข้าไปตู้เก็บของกลางบ้านอาจกลายเป็นพระเอกประจำบ้านได้ไม่ยาก
1.เป็นมากกว่าชั้นเก็บของ
สร้างชั้นเก็บของแบบโปร่งๆเพื่อแบ่งพื้นที่การใช้งานภายในบ้านโดยไม่ต้องกั้นห้อง ไอเดียนี้เหมาะสำหรับการแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานที่อยู่ในห้องเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยพรางตาเพิ่มความเป็นส่วนตัวแต่ยังมองเห็นกันได้
สร้างชั้นเก็บของแบบโปร่งๆเพื่อแบ่งพื้นที่การใช้งานภายในบ้านโดยไม่ต้องกั้นห้อง ไอเดียนี้เหมาะสำหรับการแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานที่อยู่ในห้องเดียวกัน อีกทั้งยังช่วยพรางตาเพิ่มความเป็นส่วนตัวแต่ยังมองเห็นกันได้
บ้านคุณฉัตรชัย ตังธนศฤงศาร : ชั้นเก็บของขนาดใหญ่กั้นพื้นที่ระหว่างห้องนั่งเล่นกับบันได ใช้วัสดุที่กลมกลืนไปกับภาพรวมของห้อง ติดไฟภายในช่องเพิ่มความน่าสนใจ ชั้นขนาดใหญ่ทำหน้าที่แทนผนังแบ่งมุมนั่งเล่นให้เป็นสัดส่วน เพิ่มพื้นที่เก็บของและวางของตกแต่งบ้านได้อย่างสวยงาม
บ้านคุณณัฐพร เรืองโชคชัชวาล คุณกีรติ อินโอชานนท์ : ออกแบบให้ชั้นเก็บของมีความสูงตั้งแต่พื้นจรดเพดาน เว้นตรงกลางสำหรับใช้เป็นมุมทำงานซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่น ดีไซน์ให้มีลูกเล่นโดยการใช้สีของเส้นแนวตั้งและแนวนอนที่แตกต่างกันดูน่าสนใจและใช้งานได้สะดวก
2.ซ่อนไว้อย่างมิดชิด
ข้าวของเครื่องใช้บางชิ้นไม่ได้สวยงามน่าโชว์แต่ก็ยังจำเป็นต้องมี หาที่เก็บให้พ้นตาจะช่วยทำให้บ้านดูเรียบร้อยสวยงามยิ่งขึ้นและปล่อยให้ความรกเป็นความลับอยู่ด้านในตู้ใบนั้น
บ้านคุณประภาพร เทนสิทธิ์ : ชั้นวางของหัวเตียงที่ออกแบบให้มีทั้งชั้นโชว์เปิดโล่งและชั้นปิด ออกแบบให้ดูนุ่มนวลด้วยผนังสีขาวเซาะร่องแนวตั้งล้อไปกับบานเปิด
บ้านคุณชัชวลี ปัทมานุช และคุณรวีพร เตชะวรพัฒนา : ออกแบบหน้าบานตู้บิลท์อินสีขาวให้เข้ากันทั้งห้องแต่แอบเพิ่มฟังก์ชันด้านในให้มีช่องและชั้นที่ช่วยแบ่งพื้นที่การใช้งานได้อย่างลงตัว ส่วนหน้าบานสามารถสไลซ์เก็บด้านในตู้ได้ เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเมื่ออยู่ระหว่างการใช้งานอีกด้วย
3.โลเคชั่นกำหนดฟังก์ชัน
ออกแบบตู้เก็บของให้ตอบโจทย์การใช้งาน จากการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย ยิ่งช่วยเพิ่มฟังก์ชันต่างๆที่เหมาะสมกับการใช้งานและดูกลมกลืนเข้ากับบ้านอีกด้วย
บ้านคุณนัสพงศ์ จันทร์สุคนธ์ : บริเวณที่จอดรถซึ่งโดนแดดโดนฝนอยู่เป็นประจำจึงเลือกใช้วัสดุที่ทนทานอย่างปูนซีเมนต์หล่อเว้นช่องให้ดูน่าสนใจ ติดหน้าบานไม้สักป้องกันสัตว์ร้ายที่อาจมาแอบซ่อนตัวได้ ทำให้มีพื้นที่เก็บอุปกรณ์ทำสวนและเครื่องมือช่างได้อย่างสวยงาม
บ้านคุณนิพนธ์ ชัยวิมล และคุณปานจิตต์ จันทขัมมา : เว้นช่องลึกเข้าไปในผนัง ทำเป็นตู้เก็บรองเท้าพร้อมที่นั่ง กลับมาบ้านก็ถอดรองเท้าเก็บใส่ตู้ได้ทันที หน้าบานเจาะช่องเพื่อให้อากาศถ่ายเทลดการอับชื้นติดมุ้งลวดซ่อนไว้ด้านในเพื่อป้องกันแมลงและสัตว์ร้ายไม่ให้เข้าไปภายในตู้ได้
4.ตู้เก็บและโชว์
ตู้ใบใหญ่ที่มีรายละเอียดอ่อนช้อยสวยงามหรือเรียบหรูคลาสสิกเข้ากับบ้าน ลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ หรือแม้แต่การจัดแสงไฟให้ของบนชั้นมีความโดดเด่น ยิ่งส่งเสริมสไตล์ของบ้านหลังนั้นให้ชัดเจน
บ้านคุณสุธาชล – คุณเนตรดาว วัฒนะสิมากร : ตู้สีน้ำเงินใบใหญ่ยาวเต็มผนังแบ่งเป็นตู้เก็บของด้านบน ชั้นวางของโชว์ตรงกลาง ลิ้นชักด้านล่าง และพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขนาดใหญ่ ตั้งใจให้เห็นเป็นสิ่งแรกทุกครั้งที่กลับบ้าน ถึงจะเป็นตู้ขนาดใหญ่แต่การแบ่งช่องชั้นการใช้งาน รวมไปถึงมือจับทองเหลืองแบบโบราณยิ่งทำให้มุมนี้ดูสวยงามน่ามอง
5.พรางตัวอย่างแนบเนียน
การออกแบบที่ดูเรียบง่าย ลดทอนการตกแต่งที่ดูวุ่นวายลงจนเหลือเพียงองค์ประกอบหลักเท่าที่จำเป็น แต่กลับทำให้วัสดุที่เลือกใช้ยิ่งดูสวยงามจนต้องหยุดมอง
บ้านคุณปฐมา หรุ่นรักวิทย์ : แพนทรี่เล็กๆที่ดูเรียบง่าย เลือกใช้วัสดุที่มีลวดลายสวยงามกรุหน้าบาน อย่างไม้จริงและหินอ่อนเกิดเป็นภาพใหญ่ที่ดูต่อเนื่องกันอย่างน่าสนใจ
บ้านครอบครัวอนันต์รัตนสุข : โถงทางเดินกรุด้วยไม้เต็มทั้งผนังและเพดาน ซ่อนร่องให้มีจังหวะเท่าๆกันล้อไปกับหน้าบานตู้ที่ซ่อนตัวอย่างแนบเนียนจนไม่ทันสังเกต
เรื่อง : jOhe
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน นิตยสาร room และ my home
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: [DIY] ชั้นวางของทำเองจากเหล็กฉาก สร้างระเบียบแบบมีสไตล์
ขอบคุณข้อมูลจาก: บ้านและสวน
อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.baanlaesuan.com